โครงการวิจัยปูม้า ม.วลัยลักษณ์ ได้รับคัดเลือกเป็นโครงการวิจัยเด่นจาก สวก.

“โครงการวิจัยศึกษาชีววิทยาประมง สังคมเศรษฐกิจ และระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องต่อการฟื้นฟูปูม้าตามแนวทางการพัฒนาทางการประมง (Fishery improvement program: FIP) บริเวณอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการเป็นหัวหน้าโครงการได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการวิจัยเด่นจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.) เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยต่อนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ผู้ทรงวุฒิของ สวก. ในงานประชุมวิชาการของสวก. ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 8-9 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี กล่าวว่า โครงการวิจัยชิ้นนี้มุ่งเป้าวิจัยในพื้นที่อ่าวบ้านดอน เป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรปูม้าบนพื้นฐานของมาตรฐานสากล มีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับการพัฒนาทางการประมงของไทย โดยบูรณาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย ม.วลัยลักษณ์ ม.อุบลราชธานี ม.เกษตรศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (วิทยาเขตตรัง) ม.ราชภัฎรำไพพรรณี กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย บริษัทส่งออกปูม้าต่างประเทศ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และ NFI crab council อเมริกา และ Marine resources assessment group (MRAG)จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระประเมินโครงวิจัยชิ้นนี้ตามมาตรฐานสากลตามกรอบFIP

การดำเนินการ 2 ปีที่ผ่านมา ได้ยกระดับการประเมินมาตรฐานการประมงไทยFIP ปูม้า จากเดิมก่อนเริ่มโครงการปี 2017 อยู่ในระดับ C ยกระดับเป็น A ในปี 2018 และ 2019 นอกจากนี้ผลงานวิชาการจากงานวิจัยยังนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรปูม้าในพื้นที่ ส่งผลให้เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในธรรมชาติ สามารถเพิ่มจำนวนการจับสัตว์น้ำของชาวประมงพื้นบ้าน จากเดิมมีผลจับน้อยกว่า 10 กก/ลำ/วัน เป็น 15-20 กก/ลำ/วัน และในบางช่วงที่คลื่นลมเหมาะสมมากถึง 50 กก/ลำ/วัน และในส่วนของชาวประมงพาณิชย์ผลจับเพิ่มจาก 40-60 กก/ลำ/วัน เป็น 70-80 กก/ลำ/วัน และในบางช่วงสูงกว่า 100 กก/ลำ/วัน นอกจากนี้ข้อมูลจากงานวิจัยสามารถนำมาใช้ประโยชน์เชิงนโยบายของประเทศ ในการเสนอแนะเพื่อประกาศพื้นที่แหล่งหลบภัยสัตว์น้ำสำหรับเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และการเสนอแนะแนวทางการจัดทำธนาคารปูม้า และจุดปล่อยปูม้าที่เหมาะสมเพิ่มอัตราการรอดของปูม้าในแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งการบริหารจัดการระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า เป็นต้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี กล่าวต่อไปว่า โครงการวิจัยชิ้นนี้ยังสอดรับกับแผนการวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมกับเครือข่าย จัดทำโครงการ“คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” จัดทำธนาคารปูม้าในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนกว่า 60 แห่ง เพื่อนำตัวอ่อนปูม้าทั้งระยะ zoeaและ young crab คืนสู่ทะเลไทยยังส่งผลสอดคล้องและหนุนเสริมให้การฟื้นฟูปูม้าของประเทศไทยมีการพัฒนา เห็นผลเชิงประจักษ์บนพื้นฐานของมาตรฐานสากล “โครงการวิจัยดังกล่าวมีผลต่อองค์ความรู้ทางวิชาการ เศรษฐกิจการส่งออกปูม้าของประเทศ มีผลกระทบต่อชุมชนสังคม เพิ่มผลจับปูม้า เพิ่มรายได้ ชุมชนชายฝั่งมีความเข้มแข็ง ตอบโจทย์เป็นหลักในถิ่น และความเป็นเลิศสู่สากล ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีศูนย์บริการวิชาการเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนนำวิชาการรับใช้สังคม ขอขอบคุณและยกความสำเร็จในครั้งนี้ให้แก่คณะผู้ร่วมวิจัย กลุ่มชาวประมงตลอดแนวชายฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ประกอบการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ กล่าว

สำหรับงานประชุมวิชาการ สวก. 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานวิจัยด้านการเกษตร เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศโดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรของไทย รวมถึงเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และรับทราบทิศทางงานวิจัยด้านการเกษตรที่สอดรับต่อการเข้ามามีบทบาทสำคัญของเทคโนโลยี